การเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น

การเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น

ในช่วงนี้ อากาศเริ่มเย็นลงแล้วนะคะ หลายๆ บ้านอาจจะเริ่มมองหา "เครื่องทำน้ำอุ่น" ไว้ติดตั้งเพื่อบรรเทาความหนาวในเวลาอาบน้ำกันแล้ว เครื่องทำน้ำอุ่นเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทำให้น้ำร้อนขึ้น โดยอาศัยการพาความร้อนจากขดลวดความร้อน (Heater) ขณะที่กระแสน้ำไหลผ่านส่วนประกอบหลักของเครื่องทำน้ำอุ่นคือ ตัวถังน้ำ ทำหน้าที่บรรจุน้ำที่จะทำความร้อน, ขดลวดความร้อน ทำหน้าที่ทำความร้อนให้น้ำ เมื่อเราเปิดสวิตซ์ กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านขดลวดความร้อนทำให้น้ำร้อนขึ้น และอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ (Thermostat) ทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงถึงระดับที่ตั้งไว้

เครื่องทำน้ำอุ่น แบ่งตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 2 ประเภท คือ เครื่องทำน้ำอุ่นแบบทำน้ำอุ่นได้จุดเดียว และ เครื่องทำน้ำอุ่นแบบทำน้ำอุ่นได้หลายจุด ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากกว่าเครื่องทำน้ำอุ่นแบบจุดเดียว

ในการเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นควรเลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับความจำเป็นภายในครอบครัว และเลือกซื้อรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูง หากต้องการใช้น้ำอุ่นเพื่ออาบน้ำเท่านั้น ก็ควรจะเลือกซื้อและติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นชนิดทำน้ำอุ่นได้จุดเดียว และเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีถังน้ำภายในตัวเครื่องและมีฉนวนหุ้ม เพราะสามารถลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 10-20 ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าชนิดที่ไม่มีถังน้ำภายใน เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน

การใช้เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าอย่างประหยัดพลังงานและถูกวิธี สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นให้เหมาะสมกับการใช้งานเป็นหลัก เช่น ต้องการใช้น้ำอุ่นเพื่ออาบน้ำ หรือล้างจานเป็นต้น
เลือกใช้หัวฝักบัวชนิดประหยัดน้ำ (Water Efficient Showerhead) เพราะประหยัดน้ำกว่าหัวฝักบัวธรรมดา 25-75%
เลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่มีถังน้ำภายในตัวเครื่อง และมีฉนวนหุ้ม เพราะสามารถลดการใช้พลังงานได้ 10-20%
หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าชนิดที่ไม่มีถังน้ำภายใน เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองการใช้พลังงานในการทำน้ำให้ร้อนตลอดเวลา
ไม่ควรเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นทิ้งไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะขณะที่ถูสบู่
ปิดวาล์วน้ำและสวิตซ์ทันทีที่เลิกใช้งาน
หมั่นตรวจสอบการทำงานของเครื่องให้มีสภาพดีอยู่เสมอ ตลอดจนตรวจดูระบบท่อน้ำและรอยต่ออย่าให้มีการรั่วซึม เมื่อพบปัญหาควรตรวจสอบดังนี้ถ้าน้ำที่ออกจากเครื่องเป็นน้ำเย็นเพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ขดลวดความร้อน สาเหตุอาจเกิดจากฟิวส์ขาด หรืออุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิเสียไม่ยอมให้ไฟผ่าน
ถ้าไฟสัญญาณติดแต่ขดลวดความร้อนไม่ทำงาน น้ำไม่อุ่น สาเหตุอาจเกิดจาก ขดลวดความร้อนขาด อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิเสีย
ถ้าน้ำจากเครื่องทำน้ำอุ่นร้อนหรือเย็นเกินไป สาเหตุอาจเกิดจากอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิทำงานผิดปกติ


การเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นให้ปลอดภัย

เครื่องทำน้ำอุ่นที่ปลอดภัยจะต้องมีเครื่องป้องกันไฟดูดติดตั้งอยู่ในตัวเครื่อง พอไฟดูดปุ๊บเครื่องตัดปั๊บ หรือถ้าบ้านไหนซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นมาแล้วแต่ไม่มีตัวตัดไฟ ก็ให้ซื้อเบรคเกอร์พิเศษชนิดที่ตัดได้ทั้งไฟเกิน ไฟรั่ว ไฟดูด มาติดตั้งเพิ่มเติมได้ โดยเบรคเกอร์ชนิดนี้ราคาประมาณห้าร้อยกว่าบาทหรือมีอีกวิธีหนึ่งคือ การดูให้ละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญของการไฟฟ้าแนะนำว่าให้ดูฝาหลังเครื่องทำน้ำอุ่นต้องเป็นโลหะ ตัวกล่องด้านหน้าเป็นพลาสติกก็ไม่เป็นไร แต่ฝาหลังที่ยึดติดกับฝาผนังต้องทำจากโลหะ เพราะถ้าเกิดมีไฟรั่วขึ้นมาไฟจะได้รั่วลงดิน ผ่านทางฝาหลังออกไปยังน็อตสกรูที่ยึดติดกับปูนฝาผนังช่วยลดอันตรายจากไฟรั่วได้

จุดต่อไปแกะตัวเครื่องออกมาดู สายดินหรือสายกราวนด์ในตัวเครื่องจะต้องไม่เล็กกว่า 2.5 SQ.MM. และเวลาให้ช่างมาติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นสายดินที่ต่อออกจากตัวเครื่องลงดินต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 2.5 SQ.MM. เหมือนกัน ถ้าบ้านเก่าหลังไหนยังไม่มีสายดินสามารถทำเองได้ โดยไปหาซื้อแท่งกราวนด์ (แท่งตัวนำ) ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป มาตรฐานแท่งกราวนด์ต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 5 หุน ปักลงไปในดินได้ไม่ต่ำกว่า 5 ฟุต เครื่องทำน้ำอุ่นทุกเครื่องต้องต่อสายดิน สายดินต้องได้ขนาด เวลาไฟรั่วจะได้รั่วลงดินได้สะดวกรวดเร็ว

ส่วนสวิตช์ควรดูด้วยว่ามีสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิหรือไม่ โดยสวิตช์ตัวนี้ทำหน้าที่ตัดไฟเวลาน้ำอุ่นร้อนได้ที่ ถ้าไม่มีสวิตช์ตัวนี้อย่าซื้อมาใช้เด็ดขาด เพราะถ้าเผลอเปิดทิ้งไว้เมื่อไรมีสิทธิ์ทำไฟไหม้บ้านได้ อีกจุดที่ไม่ควรมองข้ามคือ สวิตช์ควบคุมแรงดันน้ำ สวิตช์ตัวนี้พอเรากดปุ่มให้น้ำไหลผ่านสวิตช์ น้ำจะไปดันสวิตช์ให้ไฟทำน้ำอุ่นติดขึ้นมาทันที

ให้ดูว่าผู้ผลิตออกแบบมาวางสวิตช์ตัวนี้ไว้ถูกที่ถูกทางหรือไม่ ดูตรงหม้อต้มน้ำร้อนที่เป็นทองแดงกลมอ้วนใหญ่ที่สุดในเครื่องมีสวิตช์สายไฟอยู่ในตำแหน่งใต้หม้อต้มน้ำร้อนพอดิบพอดีหรือไม่ หากอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ลองจินตนาการภาพดูซิว่า ถ้าหม้อต้มน้ำร้อนรั่วขึ้นมา น้ำที่รั่วจะไหลหยดลงบนสวิตช์ได้ไหม ถ้าคิดว่าหยดลงได้ไม่ควรซื้อมาใช้

เครื่องทำน้ำอุ่นที่ได้มาตรฐานต้องออกแบบให้สวิตช์ตัวนี้อยู่ในตำแหน่งใต้หม้อต้มน้ำร้อนแบบเยื้อง ๆ ไม่ใช่ข้างใต้แบบตรงพอดิบพอดี หากหม้อต้มน้ำร้อนรั่ว น้ำต้องไม่หยดลงบนสวิตช์ และตัวสวิตช์ต้องมีวัสดุกันน้ำชนิดคลุมมิดชิดไม่ใช่ปล่อยให้เปลือยเปล่าล่อไฟช็อต

ข้อสังเกตสุดท้ายคือ ขนาดสายไฟของเครื่องทำน้ำอุ่นต้องได้ขนาด ไม่เล็กจนเกินไป โดยมีสูตรคำนวณมาฝากค่ะ ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า เครื่องทำน้ำอุ่นนั้นกินไฟเท่าไร จากนั้นเอา 1,320 หาร จะได้ค่าของขนาดสายไฟค่ะ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นกินไฟ 5,500 วัตต์ หารด้วย 1,320 ได้ผลลัพธ์ 4.16 ฉะนั้นขนาดสายไฟที่เหมาะสม ต้องไม่น้อยกว่า 4 SQ.MM. สูตรนี้เอาไปคำนวณการเดินสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างอื่นได้ด้วย รู้ไว้เพื่อความปลอดภัย และกันถูกช่างไฟต้มด้วยค่ะ

ทราบวิธิปฏิบัติกันอย่างนี้แล้ว นำไปใช้ได้นะคะ ฤดูหนาวปีนี้จะได้ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่มา สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์